(ภาษาไทย) ส.อ.ท.-สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย-สถาบันอาหาร เผยยอดส่งออกอาหารไทย 9 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3% คาดปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.7%


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร แถลงผลการส่งออกอาหารไทย 9 เดือนแรกปี 2560 ตั้งแต่เดือน มกราคม 2560 – เดือนกันยายน 2560 มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน มูลค่า 768,797 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ ส่วนปี 2561 ประเมินว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 มีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท จากอานิสงส์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ปัญหาอุทกภัย และปัญหาการกีดกันทางการค้า

ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 – เดือนกันยายน 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ตามการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อรองรับอุปสงค์ภายในประเทศ อัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 51.8 จากเดิมร้อยละ 50 ในช่วงปีเดียวกันของปี 2559 ส่วนภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทย มีปริมาณ 25.26 ล้านตัน มูลค่า 768,797 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.3 และร้อยละ 9.4 ตามลำดับ จากปัจจัยความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

food_19-10-60

เผย 6 กลุ่มสินค้าหลักยอดส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า

สำหรับกลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน โดย การส่งออกข้าว มีปริมาณสูงถึง 8,649,894 ตัน มูลค่ารวม 128,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ26.2 และร้อยละ 18.7 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากประเทศในตะวันออกกลางและประเทศแอฟริกาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหม่ของไทยมีความต้องการการบริโภคข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วน การส่งออกไก่ มีปริมาณ 607,078 ตัน มูลค่ารวม 69,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และร้อยละ 7.7 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากได้อานิสงส์จากการระบาดของไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมทั้งประเทศส่งออกอย่างบราซิลซึ่งเป็นคู่แข่งการส่งออกไก่ของไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ การส่งออกกุ้ง มีปริมาณ 160,754 ตัน มูลค่าส่งออก 53,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับจากปี 2559 เพราะปริมาณวัตถุดิบกุ้งไทยฟื้นตัวจากโรค EMS (Early Mortality Syndrome) สวนทางกับประเทศคู่แข่งบางรายที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวและปริมาณความต้องการกุ้งในตลาดโลกปรับสูงขึ้น

ส่วนสินค้าประเภท เครื่องปรุงรส มีปริมาณส่งออก 244,377 ตัน มูลค่าส่งออก 16,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับจากปี 2559 เนื่องจากตลาดในแอฟริกาและตะวันออกกลางสั่งซื้อเข้ามาสูงกว่าปี 2559 ผลิตภัณฑ์มะพร้าว มีปริมาณส่งออก 291,051 ตัน มูลค่าส่งออก 13,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และร้อยละ 16.5 ตามลำดับจากปี 2559 เนื่องจากคู่แข่งบางประเทศประสบปัญหาภัยธรรมชาติและปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และ อาหารพร้อมรับประทาน มีปริมาณส่งออก 44,261 ตัน มูลค่าส่งออก 4,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับจากปี 2559 จากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

ชี้สินค้า 3 กลุ่มปริมาณส่งออกลดลงแต่มูลค่าขยายตัวสูงขึ้น

ยงวุฒิ กล่าวว่า กลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีปริมาณลดลงแต่มูลค่าขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย ซึ่งมีมูลค่าขยายตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงในครึ่งแรกของ ปี 2560 โดยมีปริมาณส่งออก 4,550,773 ตัน คิดเป็นปริมาณลดลงร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2559 มูลค่าส่งออก 74,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เช่นเดียวกับการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง ที่มีปริมาณส่งออก 366,002 ตัน คิดเป็นปริมาณลดลง ร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2559 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 51,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2559 หลังจากที่ผู้ผลิตมีการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการส่งออก ผลิตภัณฑ์สับปะรด คิดรวมทั้ง กระป๋องและน้ำสับปะรดเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 491,241 ตัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 แต่มูลค่าการส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 19,342 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 9.1 จากปี 2559 ที่ผ่านมา ด้วยภาวะที่ผลิตภัณฑ์สับปะรดมีราคาอ่อนตัวลงมากตามราคาวัตถุดิบสับปะรดโรงงานเพราะเกษตรกรไทยหันมาปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 10

ยอดส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ -น้ำผลไม้ หดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่า

ส่วนสินค้าหลักที่การส่งออกหดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่ามีเพียง 2 กลุ่มสินค้า คือ แป้งมันสำปะหลังดิบ ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 2,330,365 ตัน มูลค่าส่งออก 25,715 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 0.0 และร้อยละ13.7 ตามลำดับ มีสาเหตุจากการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบไปตลาดหลักอย่างจีน ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากผู้ส่งออกเวียดนามที่ใช้ข้อได้เปรียบจากการส่งสินค้าผ่านชายแดนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 อย่างอินโดนีเซีย มีการหดตัวมากเช่นกัน เพราะผลผลิตมันสำปะหลังในอินโดนีเซียมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และ น้ำผลไม้ ไม่รวมน้ำสับปะรด มีปริมาณส่งออก 379,376 ตัน มูลค่าส่งออก 13,757 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ10.7 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่มีการปรับปรุงระบบการผลิตน้ำมะพร้าวให้สอดรับกับมาตรฐานใหม่ที่ประกาศใช้โดย European Fruit Juice Association (AIJN) ส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงในช่วงสั้น ๆ คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2560 หรือช่วงต้นปี 2561

ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 13 ในปี 2559

นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 13 จากปี 2559 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 2.35 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 22,209 ล้านเหรียญสหรัฐใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งในบรรดา 20 ประเทศผู้นำการส่งออกอาหารโลกในปี 2560 นี้ส่วนใหญ่มีอันดับคงที่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังครองอันดับ 1 ในตลาดผู้ส่งออกอาหาร มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 9.74 คิดเป็นมูลค่า 92,124 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนลำดับ 2 ในตลาดประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกยังคงเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 6.13 มูลค่าตลาด 57,989 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น แต่มี 4 ประเทศที่มีการขยับลำดับที่ดีขึ้น ได้แก่ ประเทศ บราซิล ขยับขึ้นจากที่ 5 มาอยู่ลำดับที่ 3 โดยมีมูลค่าสัดส่วนตลาดส่งออกร้อยละ 5.90 คิดเป็นมูลค่า 55,823 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ประเทศออสเตรเลีย ขยับจากที่ 14 มาอยู่ลำดับที่ 10 มีมูลค่าสัดส่วนตลาดส่งออกร้อยละ 2.52 คิดเป็นมูลค่า 23,873 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 ประเทศเวียดนาม ขยับจากที่ 18 มาอยู่ลำดับที่ 17 มีมูลค่าสัดส่วนตลาดส่งออกร้อยละ 1.96 คิดเป็นมูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 และประเทศรัสเซีย ขยับขึ้นจากที่ 21 มาอยู่ลำดับที่ 20 มีมูลค่าสัดส่วนตลาดส่งออกร้อยละ 1.36 คิดเป็นมูลค่า 12,877 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 22

“ทั้งนี้สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยค่อนข้างจะเปราะบาง เพราะประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย มีวิธีการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดโลกค่อนข้างที่จะดีกว่าประเทศไทยในหลายๆธุรกิจ ดังนั้นจึงอยากแนะนำเกษตรกรไทยหันมาใส่ใจในเรื่องการผลิตสินค้าการเกษตรที่ตอบโจทย์ตลาดโลกเพิ่มขึ้น อย่าผลิตตามกระแสนิยมแล้วเกิดภาวะสินค้าล้นตลาดขายได้ราคาตกต่ำจะไม่คุ้มทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องจะนำปัญหาเหล่านี้ไปถกหาทางออกเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจการเกษตรให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สอท. กล่าว

ภาพรวมยอดส่งออกอาหารไทยในปี ’60 เพิ่มขึ้น 8.4 % คาดยอดส่งออกในปี ’61 เพิ่มขึ้น 8.7%

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงครองอันดับ 3 ประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกในเอเชีย เป็นรองเพียงแค่ประเทศจีนและอินเดีย โดยคาดว่าภาพรวมการส่งออกอาหารไทยทั้งปี 2560 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูง ส่งไปขายยังประเทศตะออกกลาง จีน กลุ่มประเทศ CLMV และแอฟริกา ส่วนตลาดส่งออกที่ลดลง ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ เอเชียใต้ แต่ยังประเมินว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ที่เหลืออยู่จะยังได้รับปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกไก่ยังได้รับอานิสงส์จากกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเนื้อสัตว์ของบราซิล ประกอบกับความต้องการสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี จะมีส่วนกระตุ้นให้การส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอัตราร้อยละ 8.7 โดยมีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วนส่งออกประมาณร้อยละ 30 ญี่ปุ่นร้อยละ 14 สหรัฐอเมริการ้อยละ 10 ส่วนจีนและแอฟริกามีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 9

เผย 5 ปัจจัยหลักสนับสนุนธุรกิจเกษตรและอาหารไทย

ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จากการที่ธุรกิจประมงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้การจับอาหารในท้องทะเลลดลง ประกอบกับกฎหมาย IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ที่บังคับเรื่องเครื่องมือหาปลาต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงได้รับผลกระทบทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อให้ทำการประมงอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังถือว่าโชคดีมากที่ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวมาเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล ปู กุ้ง ปลาทะเลตามชายฝั่งทดแทนบ้าง ทำให้ได้รับผลกระทบลดลงกว่าในช่วงแรก ๆ โดยในปัจจุบันจะจับสัตว์ทะเลรวมได้ไม่ถึง 1,000,000 ตันต่อปี จากที่เคยจับได้สูงถึง 10,000,000 ต่อปี

“ขณะนี้ทางสมาคมฯ ไม่ได้เป็นห่วงราคาในท้องตลาดที่จะพุ่งสูงขึ้นแต่เราเป็นห่วงทรัพยากรทางท้องทะเล กุ้ง ปู ปลาที่จะไม่มีให้ลูกหลานไว้รับประทานในอนาคตมากกว่า”

สำหรับปัจจัยสนับสนุนธุรกิจเกษตรและอาหารไทย ประกอบด้วย 1). เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 จากร้อยละ 3.6 ในปี 2560 2) ผลผลิตสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน กุ้ง ไก่ ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลง 3) ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญ 3 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และปลาป่น 4) ราคาสินค้าส่งออกหลักของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกหลายรายการ รวมถึง ข้าว ไก่ และกุ้ง 5) ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำไม่กระทบต้นทุนสินค้า ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารตลอดจนภาคการขนส่งมากนัก

หลายปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย/P>

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 8 จากปี 2559 ทำให้สินค้าที่สั่งซื้อจากต่างชาติมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งปริมาณสินค้าโดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตรมีการผลิตที่ออกมาพร้อมกันมาก ทำให้ราคาค่อนข้างลดลงจากปี 2559 ที่ผ่านมา ปัญหาต่อมาเป็น ปัญหาน้ำท่วม ที่อาจจะส่งผลบ้างในช่วงเดือนที่เหลือของ ปี 2560 ถ้าพื้นที่ที่ทำการเกษตรที่สำคัญในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ถูกน้ำท่วมเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกิน 2 สัปดาห์ จะทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรที่จะเข้าสู่ตลาดลดลงและส่งผลให้ขาดแคลนได้ ต่อมาเป็นราคาพลังงานในตลาดโลก ที่หากลดลงในระดับ 40-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะส่งผลให้ประเทศที่ผลิตพลังงานออกขายไม่สามารถมีกำลังที่จะสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยได้ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศกำลังซื้อใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเป็นคู่ค้าเรื่องอาหารของประเทศไทย “นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งเรื่อง วิธีการกีดกันทางการค้า ที่จากนี้ต่อไปการกีดกันทางการค้าจะแสดงออกแบบตรงไปตรงมามากขึ้น เช่น ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศใด ประเทศนั้นก็จะให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศเขาในปริมาณที่สูงใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยส่งออกไปขายด้วย และสงครามทางสื่อโซเชียลจะเป็นตัวกระทบต่อการค้าขายในภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยมากขึ้น เนื่องจากการสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียผู้อ่านมักจะเชื่อไปก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องจริงก่อนที่จะได้รับการยืนยันว่าข่าวหรือเหตุการณ์ในสื่อโซเชียลนั้นเป็นความจริงหรือไม่ จึงอยากฝากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลสื่อโซเชียลช่วยสอดส่องประเด็นข่าวลืออุตสาหกรรมอาหารไทย แล้วช่วยแก้ไขข่าวก่อนที่จะสร้างความเสียหายลุกลามจนแก้ไขลำบากในอนาคต” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าว

Comments are closed.