(ภาษาไทย) ไทยผนึกกำลัง EU ส่งต่อความรู้การขจัดความยากจน ด้วยการผลิตและใช้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัชกาลที่ 9


กรุงเทพฯ : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสหภาพยุโรป เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน จัดงานสัมมนา เรื่องผลิตและใช้อย่างพอเพียง เพื่อช่วยลดความยากจน “Poverty Reduction through SCP” ซึ่งตรงกับวันขจัดความยากจนสากล (17 ตุลาคม 2560 ) โดยใช้แนวทางการบริโภคที่ยั่งยืนมาแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม หรือปัญหาความยากจนได้อีกด้วย

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ร่วมด้วย หลุยซ่า รัคเฮร์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ในฐานะรองหัวหน้าคณะผุ้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. และผู้บริหารของ สผ.เข้าร่วมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์การพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนประมาณ 200 คน ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

eu_19-10-60

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ ได้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่สมาชิก 195 ประเทศ รับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 17 ข้อ ซึ่งเป้าหมายแรก คือ ยุติความจนทุกรูปแบบในทุกที่

การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนให้แก่ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยมีการบรรยายในหัวข้อ “แผนการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน พ.ศ.2560-2579” โดย ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

จากนั้นมีการจัดเสวนา “ผลิตและใช้อย่างพอเพียง เริ่มต้นจากตัวเรา” โดยนคร ลิมปคุปตถาวร จากศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้แทนฝ่ายกิจการบริษัท เทสโก้ โลตัส และ มร. Po-Tsao Chen, Community Engagement Coordinator จากมูลนิธิ ThaiHarvest/SOS ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้การส่งเสริมการบริโภคให้คุ้มค่า และไม่ให้เหลือทิ้ง รวมถึงการลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการจัดจำหน่ายและการขนส่งอาหาร ดำเนินรายการโดย ดร.ฉัตรชัย อินต๊ะทา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2558 ได้เริ่มจัดทำโรดแมปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ระยะ 20 ปี โดยได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวคิดในการจัดทำ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ จากนั้นจึงได้นำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในโอกาสต่อไป

จากผลการศึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า โลกสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อประชากรราว 7 พันล้านคนทั่วโลก แต่คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการกินทิ้งขว้าง และขาดความเข้าใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงทำให้อาหารประมาณ 1 ใน 3 กลายเป็นขยะ ขณะที่ผู้คนประมาณ 870 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 8 อยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดอาหาร ที่สำคัญมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นประชากรในทวีปเอเชีย

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ขยะอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน มีสูงถึง 3,300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

“งานสัมมนาดังกล่าวจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานต่อไป” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

Comments are closed.